ข้อกฎหมายสำหรับการ ทุบตึก รื้อถอน บ้าน อาคาร
ข้อกฎหมายที่ได้บัญญัติไว้เมื่อต้องการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ต้องทำการขออนุญาตจากทางราชการก่อน ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 “ผู้ใดจะรื้อถอนอาคารที่มีส่วนสูงเกิน 15 เมตร ซึ่งอยู่ห่างจากอาคารอื่นหรือที่สาธารณะน้อยกว่าความสูงของอาคาร และอาคารที่อยู่ห่างจากอาคารอื่นหรือที่สาธารณะน้อยกว่า 2 เมตรต้องได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ซึ่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นต้องตรวจพิจารณาและออกใบอนุญาตหรือมีหนังสือแจ้งคำสั่งไม่อนุญาต”
ทั้งนี้ การรื้อถอนต้องมีการป้องกัน และไม่ก่อความเดือดร้อนรำคาญและเป็นอันตรายต่อผู้อื่นด้วย
ทำไมต้องขออนุญาตรื้อถอนก่อนปลูกบ้านใหม่
การที่เราไม่ทำเรื่องรื้อถอนแล้วไปขออนุญาตสร้างบ้านใหม่ บ้านหลังใหม่ของเราก็จะถูกสวมทะเบียนตามมูลค่าเดิม ไหนจะทั้งปัญหา ถ้ามีการโอนต่อ ประวัติบ้านก็ไม่ตรง ขนาด อายุการใช้งาน และถ้ายิ่งไม่ขออนุญาต เทศบาล/เขต มาตรวจ ให้เหตุผลว่าไง
เอกสารที่ต้องใช้ในการขออนุญาตเพื่อทำการรื้อถอนอาคาร
- แบบแปลนของอาคารที่จะรื้อ ประกอบด้วยรายละเอียดแบบแปลนทุกชั้น รูปด้านข้างทั้งสองด้าน ภาพตัดขวาง และรายละเอียดวัสดุที่ใช้สร้างอาคาร วิธีการรื้อถอน ที่ทำมาไม่เกิน 45 วัน
- แบบคำร้อง ข.1
- บัตรประชาชน
- ทะเบียนบ้านแสดงความเป็นเจ้าของที่ดิน
- หนังสือยินยอม ในกรณีไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน
- สำเนาโฉนด
ขั้นตอนการดำเนินการขออนุญาตรื้อถอนอาคาร
สามารถยื่นเรื่องได้ ณ. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ที่จะขออนุญาตรื้อถอนอาคาร
- ยื่นขออนุญาตรื้อถอนอาคารพร้อมเอกสาร
- เจ้าพนักงานท้องถิ่นตรวจพิจารณาเอกสารประกอบการขออนุญาต
- เจ้าพนักงานท้องถิ่นดำเนินการตรวจสอบการใช้ประโยชน์ที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง ตรวจสอบสถานที่ก่อสร้างจัดทำผังบริเวณแผนที่สังเขป ตรวจสอบกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ประกาศกระทรวงคมนาคมเรื่องเขตปลอดภัยในการเดินอากาศเขตปลอดภัยทางทหารฯและพรบ.จัดสรรที่ดิน
- เจ้าพนักงานท้องถิ่นตรวจพิจารณาแบบแปลนและพิจารณาออกใบอนุญาต (อ.1) และแจ้งให้ผู้ขอมารับใบอนุญาตรื้อถอนอาคาร (น.1)